จากสมองน้อยๆ สู่ร่างอวบอั๋น

เป็นที่รู้กันดีว่าในยุคที่มองออกไปทางไหนก็เห็นของกินอร่อยยั่วใจอยู่รอบตัว เริ่มต้นด้วยเครปเบาๆ ตามด้วยชาบูร้านดัง จบด้วยปิงซู ไอศครีม เค้ก เป็นอันสวยสดงดงามชีวิตดี๊ดี ด้วยพฤติกรรมการกินแบบนี้เองที่นำมาสู่ร่างอวบอิ่มของใครหลายคน เดือดร้อนเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายค่าฟิตเนสรายปีที่พอเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยได้ไปใช้บริการสักเท่าไร…

เป็นที่รู้กันดีว่าในยุคที่มองออกไปทางไหนก็เห็นของกินอร่อยยั่วใจอยู่รอบตัว เริ่มต้นด้วยเครปเบาๆ ตามด้วยชาบูร้านดัง จบด้วยปิงซู ไอศครีม เค้ก เป็นอันสวยสดงดงามชีวิตดี๊ดี ด้วยพฤติกรรมการกินแบบนี้เองที่นำมาสู่ร่างอวบอิ่มของใครหลายคน เดือดร้อนเงินในกระเป๋าที่ต้องจ่ายค่าฟิตเนสรายปีที่พอเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยได้ไปใช้บริการสักเท่าไร จากข้อมูลในสื่อต่างๆ หลายคนพอรู้อยู่บ้างว่าที่มาของความตุ้ยนุ้ยมาจากอาหารที่กินบวกกับพฤติกรรมการไม่ออกกำลังกาย แต่รู้หรือไม่ว่าที่มาอีกส่วนที่สำคัญซึ่งมีอยู่ในตัวเราทุกคนอันมีผลทำให้เราอ้วนมาจากสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “สมอง” นั่นเอง

    สมองของคนเราเป็นสมองที่ล้าสมัย ยังมีพัฒนาการน้อยเมื่อเทียบกับส่วนอื่นของร่างกาย หากพูดเรื่องของกิน สมองยังคงสั่งการให้ร่างกายจงเสาะแสวงหาอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เนื่องจากว่าในยุคหลายแสนปีก่อนหน้านี้อาหารคือสิ่งที่จำเป็นและแสนจะหายาก เมื่อพบหรือมีโอกาสต้องรีบจัดการให้หมด อีกทั้งในยุคนั้นไม่มีตู้เย็นแช่เเข็งดังนั้นสมองจึงสั่งให้ร่างกายกินให้มากที่สุดเพื่อให้มีพลังงานสำหรับการดำรงชีวิตในวันต่อไป ฮอร์โมนที่สำคัญในการทำงานของร่างกายที่จะคอยกระตุ้นสมองส่วนกลาง  โดยเฉพาะสมองส่วนไฮโพทาลามัสซึ่งเป็นศูนย์กลางในการควบคุมการกินเพื่อบอกให้ร่างกายหยุดกินซะ เมื่อร่างกายเริ่มรู้สึกว่าอ้วน คือ ฮอร์โมนที่มีชื่อว่าเลปทีน (Leptin) ดังนั้นเมื่อเรากินอาหารเกินความจำเป็น เจ้าฮอร์โมนตัวนี้และสมองส่วนไฮโพทาลามัสจะสั่งการให้เราพอได้แล้วอยู่เสมอนั่นเอง ฟังดูก็เหมือนจะเข้าท่า เเต่เอ๊ะ แล้วทำไมเรายังอ้วนอยู่และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเมื่อเห็นของอร่อย นั่นก็เป็นเพราะว่าเจ้าสมองอันแสนฉลาดเกิดดื้อต่อฮอร์โมนเลปทีนน่ะสิ เพราะจากการตรวจสอบเหล่ามนุษย์ที่อ้วนเกินปกติ พบว่า คนเหล่านั้นมีฮอร์โมนเลปทีนมากกว่าคนทั่วไปซะอีกแถมสมองก็ทำงานได้ปกติดี เมื่อเป็นดังนั้นเหล่าบรรดานักวิทยาศาสตร์จึงหาทางออกอย่างอื่น จึงพบว่า มีฮอร์โมนอีกหนึ่งตัวที่มีชื่อว่า เกรลิน (Ghrelin) ทำหน้าที่ออกฤทธิ์ต่อสมองให้เกิดอาการหิว เมื่อหิวเราจึงกิน ดังนั้นหากเราสามารถทำการสกัดไม่ให้ฮอร์โมนตัวนี้ออกฤทธิ์ต่อสมองได้ เราก็จะไม่หิวนั่นเอง ฟังดูน่ากลัวอยู่เหมือนกัน

    หากมองกันดีดีแล้วจะเห็นว่าสมองของคนเรานั้นแม้จะดื้ออยู่บ้างแต่ก็สามารถจัดการให้เป็นไปตามระบบระเบียบที่เราต้องการได้ อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจะเหมาะสมก็คือ เมื่อเราเจออาหารที่น่ากินก็สามารถกินได้บ้างแต่ในปริมาณที่เหมาะสม เมื่อเริ่มรู้สึกว่าอิ่มก็ควรรู้จักพอ หากรู้สึกอยากกินอีกให้ใช้การแบ่งกินหลายครั้ง หรือไปกินเป็นครั้งๆ ไป การปล่อยให้ตัวเองท้องว่างหรือหิวรวมทั้งกินอาหารไม่ตรงเวลานั้นอันตรายมาก เพราะสมองจะเสียสมดุลประมวลผลและสั่งการผิดพลาดนำมาซึ่งการกินอย่างบ้าคลั่งและหยุดได้ยากมาก ส่วนการใช้ยาลดความอ้วนทั้งหลายนั้นล้วนแต่เป็นการไปสกัดหรือยับยั้งฮอร์โมนในร่างกายที่จะไปเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองทั้งสิ้นซึ่งทำให้สมองทำงานผิดปกติ เมื่อสมองทำงานผิดปกติจึงมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของร่างกายทั้งระบบตามมา สุดท้ายอย่าลืมเรื่องออกกำลังกาย ทำวันละนิดวันละหน่อยแต่ทำทุกวันจะช่วยให้ระบบการทำงานของร่างกาย ฮอร์โมนและสมองสมดุลยิ่งขึ้น

 

 

ที่มาข้อมูล :  หนังสือ Mean Genes ปี 2001 โดย Terry Burnham และ Jay Phelan

บทความ : The Hunger Hormone? วันที่ 16/02/2002 จาก www.sciencenews.org