พาสมองไปเข้ายิม

ศาสตร์ความรู้เรื่องสมองเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยหลายคนทราบกันดีว่าสมองมีสองซีก โดยสมองซีกซ้าย คือสมองที่มีความสามารถทางด้านการพูด การเขียน คำนวณ ความคิดเป็นเหตุเป็นผล การวิเคราะห์ การจัดลำดับ การรู้เวลาและสถานที่ ส่วนสมองซีกขวา…

ศาสตร์ความรู้เรื่องสมองเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยหลายคนทราบกันดีว่าสมองมีสองซีก โดยสมองซีกซ้าย คือสมองที่มีความสามารถทางด้านการพูด การเขียน คำนวณ ความคิดเป็นเหตุเป็นผล การวิเคราะห์ การจัดลำดับ การรู้เวลาและสถานที่ ส่วนสมองซีกขวา คือสมองที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ มิติสัมพันธ์ และศิลปะ แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ว่าสมองทั้งสองซีกนั้นทำงานสอดประสานไม่ได้แยกขาดออกจากกันเลย ลองนึกภาพตามว่าขณะที่คุณกำลังอ่านบทความนี้สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่ถอดความหมายของเรื่องที่อ่าน ในขณะที่ซีกขวาจะทำหน้าที่รวบรวมความคิดเข้าด้วยกัน โดยในการทำงานร่วมกันนี้จะมีกล้ามเนื้อส่วน Corpus Callosum คอยทำหน้าที่เชื่อมสมองสองซีกให้ทำงานประสานกัน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้สมองนั้นเป็นอวัยวะที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา จากการศึกษาของ ดร.พอล เดนนิสัน พบว่า สมองสามารถคิดเรื่องต่างๆ ได้พร้อมกัน 6 - 7 เรื่องในหนึ่งวินาทีเลยทีเดียว การทำงานตลอดเวลาของสมองนี้ จึงเกิดความเหนื่อยล้าและส่งผลต่อคุณภาพการประมวลผลในบางครั้ง แต่ว่าเราไม่สามารถถอดปลั๊กหรือปิดสวิชต์สมองให้หยุดพักการทำงานได้  ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดเทคนิคที่จะทำให้เราใช้สมองอย่างเต็มที่ ไปพร้อมกับการดูแลสมองของเราให้ดี หนึ่งในวิธียอดนิยมนั้นก็คือสิ่งที่เรียกว่า เบรนยิม (Brain Gym) นั่นเอง

    กิจกรรมเบรนยิม ถูกคิดค้นและพัฒนาจาก ดร. พอล เดนนิสัน (Dr.Paul Dennison) นักการศึกษาและนักประสาทวิทยา ชาวอเมริกา โดยมีหลักการคือ การทำให้การเชื่อมระบบการทำงานของสมองทั้ง 2 ซีกแข็งแรงและทำงานคล่องแคล่ว จะทำให้การถ่ายโยงข้อมูลแลกการเรียนรู้ของสมองทั้ง 2 ซีกเป็นไปอย่างสมดุลเกิดประสิทธิภาพ และยังช่วยให้เกิดการผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้สภาพจิตใจเกิดความพร้อมที่จะเรียนรู้ เกิดความจำทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีอารมณ์ขันเพราะคลื่นสมองจะลดความเร็วลง

    การบริหารสมองสามารถทำผ่านการเคลื่อนไหวได้ง่าย เช่น

1.การเคลื่อนไหวแบบสลับข้าง (Cross Over Movement) เพื่อให้การทำงานของสมองสองซีกถ่ายโยงข้อมูลถึงกันได้ดี เช่น ท่าแตะสลับ
2.การยืดส่วนต่างๆของร่างกาย (Lengthening Movement) ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดของสมองส่วนหน้าและส่วนหลัง เช่น ท่าโยคะ
3.การเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้น (Energizing Movement) เป็นท่าที่จะช่วยกระตุ้นการทำงานของกระแสประสาท เพื่อช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น
4.ท่าบริหารร่างกายส่วนต่างๆ อย่างง่าย (Useful) เช่น ท่าหมุนคอ ท่าชูแขน

    วิธีการง่ายๆ อีกอย่างที่จะช่วยให้สมองได้ผ่อนคลาย ทุกคนสามารถทำได้ง่ายแบบที่คาดไม่ถึงก็คือ การดื่มน้ำสะอาด เพราะน้ำจะช่วยทดแทนของเหลวที่ร่างกายเสียไปกับการขับถ่าย หรือเหงื่อในแต่ละวัน และยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการนำสื่อประสาทในสมองอีกด้วย ในระหว่างวันจึงควรดื่มน้ำอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สมองเกิดความสมดุลและมีประสิทธิภาพในการทำงาน

    ด้วยวิธีการง่ายๆ เหล่านี้สมองของเราก็จะทำงานและอยู่กับเราไปอีกนาน ไม่ต้องเสียเงินเพื่อเข้ายิม ลุกขึ้นมาทำสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวคุณเองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ดีกว่า

 

 

ที่มาข้อมูล: บทความวิชาการ เรื่อง Brain Gym เครื่องมือช่วยเสริมสมอง สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ จากวารสารกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทยในทศวรรษหน้าโดย ขวัญฤดี และ ธัญญา ผลอนันต์