อารมณ์ขำและเสียงหัวเราะ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่มนุษย์มีแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ ดูราวเหมือนกับว่าธรรมชาติมอบสิ่งนี้มาเป็นของขวัญพิเศษให้กับมนุษย์ แต่หลายคนอาจจะยังไม่ได้ใช้งานเครื่องมือชิ้นนี้อย่างเต็มที่นัก เสียงหัวเราะนี้มีที่มาอย่างไรและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตเราได้มากน้อยแค่ไหน วันนี้เราจะมาลองไขความลับนี้กัน
หากไม่นับรวมการขันของไก่ในตอนเช้า ก็คงจะมีเพียงแค่ลิงชิมแพนซีเท่านั้นที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีอารมณ์ขัน สามารถหัวเราะเป็น เพียงแต่ไม่ได้มีการเปล่งเสียงดังเช่นในมนุษย์ ในลิงชิมแพนซีนั้นเป็นเพียงแค่การหายใจเข้าออกแบบถี่ๆ แต่นั่นก็เพียงพอที่จะเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าเสียงหายใจนี้เองเป็นต้นแบบเสียงหัวเราะของบรรพบุรุษมนุษย์ก่อนที่จะแยกสายพันธ์ออกมาจากวานร ด้วยเส้นทางอันยาวไกลของวิวัฒนาการนี้ ในที่สุดการหัวเราะจึงถูกบรรจุเป็นพื้นฐานหนึ่งที่มนุษย์อย่างเรามี เห็นได้ชัดเจนเมื่อหลายคนเล่นปิดตาจ๊ะเอ๋กับทารกน้อย หรือแกล้งเดินหกล้ม เราก็จะได้รับเสียงหัวเราะกลับมาแบบไม่ยากเย็น ดร.โรเบิร์ต โพรไวน์ (Robert Provine) เป็นผู้ที่สนใจและทำการศึกษาเรื่องการหัวเราะของมนุษย์อย่างจริงจัง ในการศึกษาพบว่า จุดเริ่มต้นของการหัวเราะในยุคมนุษย์หินอาจเป็นสัญญาณสำหรับการสื่อสารเพื่อบ่งบอกถึงความหมายตอบรับเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่เราสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้นะ ไม่เป็นไร นอกจากประโยชน์ที่ใช้ในการสื่อสารแล้ว การหัวเราะยังเกี่ยวข้องกับภาวะอารมณ์และระบบการทำงานภายในสมองของเราด้วย โดย ดร.โรเบิร์ต ยังพบว่าเมื่อเราเริ่มหัวเราะสมองจะสั่งการให้หลั่งฮอร์โมนเพื่อลดระดับความเครียดส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายดีขึ้น นอกจากนี้การหัวเราะนั้นยังช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทสมองในส่วนพรีฟรอนทอลคอร์เทกซ์ ซึ่งอยู่บริเวณสมองส่วนหน้า ซึ่งสมองบริเวณนี้ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมความคิดที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของอารมณ์เชิงบวกและลบ ทำให้เกิดการหลั่งของสารชีวเคมีตัวหนึ่งที่ชื่อว่า เอนโดรฟิน (Endorphin) หรือที่รู้จักกันในชื่อสารแห่งความสุข เข้าสู่ร่างกายเพื่อให้ร่างกายเกิดอาการกระปรี้กระเปร่า รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองและเซลล์ประสาทอีกด้วย
แม้การหัวเราะฟังดูเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับมนุษย์ แต่สำหรับบางคนอาจจะเป็นเรื่องยากเย็น เหล่าบรรดาเสือยิ้มยากทั้งหลายอาจไม่รู้สึกยินดีกับเรื่องใดง่ายนัก จากการศึกษายังพบว่าเราสามารถสร้างอารมณ์ขันได้ทั้งจากสังคม เช่น การพูดคุยกับกลุ่มคนที่มีบรรยากาศเป็นกันเอง หรือคนรอบตัวที่มีภาวะอารมณ์เชิงบวก หากเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบสุงสิงกับคนอื่นมากนัก อารมณ์ขันก็สามารถสร้างได้เมื่อเราอยู่เพียงลำพัง ผ่านสถานการณ์ธรรมดาๆ เพราะจากการศึกษาพบว่ามนุษย์จะเกิดอารมณ์ขันได้มากกว่าหากอยู่ในภาวะผ่อนคลาย หรือบรรยากาศสถานที่ที่ปลอดโปร่ง ลองหาเวลาว่างๆ อ่านหนังสือการ์ตูนหรือดูภาพยนตร์ตลก สังสรรค์กับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนาน หรือออกไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในวันหยุด เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดบรรยากาศในชีวิตใหม่ๆอยู่เสมอ แต่ข้อควรระวังในการหัวเราะคือควรหลีกเลี่ยงการหัวเราะเยาะปมด้อยหรือเรื่องน่าอับอายของผู้อื่น เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องที่ไม่ตลกสำหรับผู้ที่ถูกล้อเลียนแล้ว ยังทำลายสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกันและอาจนำไปสู่เรื่องใหญ่ในระดับผิดกฎหมายโดยเฉพาะในยุคที่สื่อโซเชียลรวดเร็ว การหัวเราะโดยไม่นึกถึงคนอื่นอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
ที่มา: บทความวิชาการ The neurology and evolution of humor, laughter, and smilling: The false alarm theory (1998) โดย Ramachandran, V.S. ตีพิมพ์ในวารสาร Medical Hypotheses