ช่วงหลายปีที่ผ่านมาภาพตามข่าวหนังสือพิมพ์มักปรากฎข่าวการก่อเหตุเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมที่สะเทือนขวัญเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และทุกครั้งที่มีเหตุสะเทือนขวัญเหล่านี้ก็จะตามมาด้วยการส่งเสียงให้ลงโทษขั้นเด็ดขาดเช่นการประหารชีวิตจากบรรดาผู้เสพสื่อทั้งหลายอยู่เสมอ และดูเหมือนว่าเสียงเหล่านั้นจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนเมื่อมีองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษย์สิทธิชนออกมาเเสดงความเห็นต่อบทลงโทษว่าควรให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นมากกว่า จนกลายเป็นความขัดแย้งด้านความคิดที่เหมือนราวกับว่าไม่สามารถจะยอมความกันได้ เป็นศัตรูที่ยืนอยู่ฝากตรงข้าม
ข้อมูลความรู้ในประเทศไทยนั้นยังไม่ได้มีการศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานระหว่างพฤติกรรมการแสดงออกกับปัจจัยที่ควบคุมการแสดงออกเหล่านั้นอย่างจริงจังมากนัก เมื่อเรานึกถึงสาเหตุ จำเลยก็มักจะไปตกอยู่ที่การเลี้ยงดู ความเครียดสภาพสังคม กรรมพันธุ์ หรืออื่นๆ อีกมากมาย แต่ในต่างประเทศนั้นมีการศึกษาเหตุปัจจัยเหล่านี้อย่างจริงจังและปัจจัยสำคัญที่ถูกพูดถึงอย่างมากก็คือ “สมอง”
ผู้อ่านเข้าใจถูกต้องแล้ว มิได้อ่านหรือเข้าใจผิดเพี้ยนแต่อย่างใด จากการศึกษาวิจัยพบว่า ในสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่หลักในการควบคุมการแสดงออกทั้งหลายนั้นจะมีสารเคมีที่ชื่อย่อ MAO (Monoamine Oxidase) คอยทำหน้าที่ควบคุมการทำงาน หากปริมาณเจ้าสารเคมีนี้ในสมองต่ำเกินไปจนผิดปกติจะทำให้มีจิตใจโหดเหี้ยมอำมหิต เช่น ในนักโทษที่ก่อคดีอุกฉกรรจ์ นอกจากนี้ยังพบว่าในเด็กที่ถูกทารุณกรรม ก็จะมีสารเคมีตัวนี้ต่ำเช่นกันและมักจะส่งผลต่อเนื่องไปเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ในขณะเดียวกันในคนธรรมดา หากมี MAO ต่ำกว่าปกติ แต่ยังอยู่ในระดับมาตรฐาน หากมีสิ่งแวดล้อมดีก็จะทำให้มีลักษณะเป็นคนอยู่เฉยไม่ได้ ขี้เบื่อ ชอบทำอะไรที่เสี่ยงๆ รักการผจญภัยตื่นเต้น สรรหารสชาติสีสันให้กับชีวิต เช่น ออกไปกระโดดร่ม ซิ่งรถ วิ่งหนีวัวกระทิง ปีนหน้าผา เป็นต้น แต่หากเดินทางสู่ด้านมืด ก็จะกลายเป็นนักพนัน ติดเหล้าและสารเสพติด ก้าวร้าวก่อความรุนแรง และกลายเป็นอาชญากรที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญในที่สุด นี่คือผลของความสัมพันธ์จากการทำงานของสมองที่ผิดปกติกับพฤติกรรมการแสดงออก
ในต่างประเทศจึงมีการให้ยาหรือสารเคมีเพื่อปรับการทำงานของสมองให้กลับมาทำงานดีเป็นปกติ แม้ว่าการใช้สารเคมมีในการบำบัดสมองนี้จะสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าสามารถรักษาและทำให้เกิดผลกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้จริง แต่ก็ไม่ใช่กับทุกราย อีกทั้งอย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการบำบัดทางจิตใจไปด้วย ซึ่งหมายถึงบุคคลที่อยู่รอบข้างรวมถึงสังคมต้องช่วยกันขัดเกลาและให้โอกาสบุคคลเหล่านี้ได้ปรับตัวด้วยเช่นกัน การตั้งคำถามว่าบุคคลเหล่านี้สมควรแก่การได้รับโทษประหารชีวิตหรือไม่นั้น อาจต้องมองให้หลายมุมมากยิ่งขึ้น การแก้ไขปัญหาจึงควรมาตั้งแต่ต้นเหตุคือการบ่มเพาะเด็กๆ ของเราตั้งแต่ที่ยังอยู่ในวัยที่สามารถขัดเกลาได้ การช่วยกันดูแลจากผู้ใหญ่ ช่วยกันค่อยๆ ขัดเกลาบ่มเพาะให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และสิ่งสำคัญคือผู้ใหญ่เองต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการมาโต้เถียงกันถึงบทลงโทษหรือมาตราการทางสังคมซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ
ที่มาข้อมูล: บทความวิชาการ Platelet monoamine oxidase activity and plasma trace acid levels in agrophobic patients and in violent offenders ปี 1984 โดย Yu, P. และคณะ ตีพิมพ์ในหนังสือ Monoamine Oxidase and Disease