เป็นคนหัวร้อน ทำให้สมองพังนะจ๊ะ

ในชีวิตประจำวันของเรานั้นต้องพบเจอกับเรื่องราวต่างๆ มากมาย หลายเรื่องราวไม่เป็นไปดั่งใจของเรา นั่นจึงเป็นเหตุนำมาซึ่งความหงุดหงิดใจ บางเรื่องราวเลยเถิดไปมากกว่านั้นจนถึงความโกรธ หรือถ้าในยุคปัจจุบันเราเรียกกันว่า “หัวร้อน” ใครนะคิดศัพท์คำนี้ขึ้นมา…

ในชีวิตประจำวันของเรานั้นต้องพบเจอกับเรื่องราวต่างๆ มากมาย หลายเรื่องราวไม่เป็นไปดั่งใจของเรา นั่นจึงเป็นเหตุนำมาซึ่งความหงุดหงิดใจ บางเรื่องราวเลยเถิดไปมากกว่านั้นจนถึงความโกรธ หรือถ้าในยุคปัจจุบันเราเรียกกันว่า “หัวร้อน” ใครนะคิดศัพท์คำนี้ขึ้นมา ช่างทำให้เราเห็นภาพเสียจริง ภาพหัวที่กำลังลุกเป็นไฟเหมือนในการ์ตูน ในขณะที่หากเราศึกษาเชิงประสาทวิทยา (Neuroscience) ก็พบว่า เวลาที่เราโกรธหัวร้อนนั้น สมองที่อยู่ภายในหัวเราก็กำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ หรือกำลังทำงานหนักนั่นเอง ช่างพอเหมาะพอดีกับคำว่าหัวร้อนอย่างบังเอิญ แต่สิ่งที่คุณอาจจะยังไม่รู้ก็คือว่า หากปล่อยให้อยู๋ในภาวะแบบนี้บ่อยๆ สมองคุณอาจจะมีปัญหาในระยะยาวได้

หากเราลองนึกทบทวนถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เราเกิดอารมณ์หัวร้อนนั้น เมื่อพิจารณาดีดีแล้วจะเห็นว่าเป็นเหตุมาจากการต้องการคำตอบหรือการไม่เข้าใจในเรื่องราวบางอย่าง คำอธิบายนี้ในทางประสาทวิทยาสามารถอธิบายได้ว่าสมองที่ทำงานในส่วนความเข้าใจนั้นทำงานเชื่อมโยงกับสมองที่ควบคุมอารมณ์ สมองจะมีความปกติสุขเมื่อสามารถประมวลผลเรื่องต่างๆ ที่รับข้อมูลมาจากประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ หรือก็คือ สมองจะแฮปปี้หากสามารถแปลผลเรื่องต่างๆ ได้แบบไม่ต้องสงสัย ดังนั้น เมื่อเราขับรถอยู่ดีดีแล้วมีคนมีขับรถปาดหน้าแบบกระทันหัน หรือ ของโปรดที่เราเตรียมไว้ในตู้เย็นที่ทำงานหายไป สมองจะไม่สามารถเข้าใจหรือหาคำตอบที่น่าพอใจได้ นำมาสู่การทำงานที่ผิดปกติ เนื่องจากในขณะที่เราโกรธนั้น สมองด้านความคิดจะพยายามหาคำตอบจากการประมวลผลด้วยข้อมูลต่างๆ เมื่อสมองทำงานมากขึ้นก็จะต้องใช้ออกซิเจนมากขึ้น ทำให้จากเดิมปริมาณออกซิเจนที่เรามีอยู่อย่างสมดุล เกิดเสียสมดุลขึ้น หากเราไม่สามารถควบคุมให้ความสมดุลกลับมาก็จะทำให้สมองด้านความคิดไม่สามารถทำหน้าที่ความมีเหตุมีผลได้ ลองนึกภาพคนที่โกรธจัดๆ ดู ก็จะเห็นว่า การพูด การกระทำ หรือการแสดงออก ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามอารมณ์ ไม่มีความนึกคิดควบคุมอีกต่อไป คริส อายเก้น (Chris Aiken) จิตแพทย์จากสถาบัน Wake Forest university school และเป็นผู้อำนวยการศูนย์ Mood Treatment Center ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าหากเราอยู่ในสภาวะเช่นนี้บ่อยๆ จะทำให้สมองเราเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมก่อนถึงวัยได้ ดังเช่นการที่เราเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าบ่อยๆ และถี่ๆ ก็จะทำให้อายุการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นพังเร็วกว่าอายุจริง ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกหัวร้อน ให้นึกอยู่ในใจว่า สมองของเรากำลังไม่ปกติ ให้หาวิธีที่จะทำให้สมดุลของสมองกลับมา

     มาลองฝึกตัวเอง โดยเริ่มจากการใช้วิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ทุกที่ สัก 3 วิธี เพื่อให้ไม่เป็นคนหัวร้อนกันดูเพื่อให้สมองดีดีอยู่กับเราไปนานนาน

1.หายใจเข้าลึกๆ อย่างช้าๆ
ดูสมเหตุสมผลกับการที่สมองต้องการออกซิเจนเพื่อไปใช้ในปริมาณมากขึ้น นั้นจึงเป็นที่มาว่าเวลาเราห้ามคนโกรธ เราจึงมีประโยคที่ว่า “หายใจเข้าลึกลึกกกกก” การหายใจเข้าลึกๆ เป็นการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อส่งไปยังสมอง จากข้อมูลการศึกษาพบว่าในภาวะปกตินั้น สมองใช้ออกซิเจนถึง 1 ใน 3 ของปริมาณออกซิเจนทั้งหมดที่นำเข้าไปในร่างกาย นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับขนาดของสมองต่อร่างกาย เมื่อเราหัวร้อนจึงมักตามมาด้วยการหายใจถี่ เพื่อเร่งเอาออกซิเจนเข้าสู่สมอง การเริ่มต้นด้วการหายใจเข้าลึกๆ จะช่วยทำให้ปริมาณออกซิเจนที่จะไปเลี้ยงสมองนั้นเพียงพอ ทำให้สมดุลในสมองค่อยกลับมา

2.การนับเลข
หลายคงคงเคยได้ยินการนับ 1 ถึง 10 ในกรณีบางคนต้องนับถึง 100 เลยทีเดียว การนับเลขเป็นวิธีที่ชักจูงให้สมองด้านความคิดกลับมามีอิทธิพลเหนืออารมณ์โกรธ เหมือนเป็นการหลอกล่อให้สมองกลับมาทำงานอย่างเป็นระบบ เมื่อสมองเริ่มทำงานด้วยความปกติ ความเข้าใจหรือการหาเหตุผลในเรื่องนั้นจะค่อยๆ ฟื้นกลับมา ทำให้เรากลับสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง

3.เดินหนี
การพาตัวเองออกจากที่เกิดเหตุ ดูเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่เราจะได้ตัดการรับรู้จากประสาทสัมผัสที่จะนำข้อมูลความสับสนไม่เข้าใจเข้าไปเพิ่มเติมในสมอง นอกจากนี้ยังมีผลดีในกรณีการแสดงออกทางร่างกายที่จะมีผลซึ่งคาดเดาไม่ได้ตามมา

    เพียง 3 วิธีที่แสนง่ายดายเบื้องต้นนี้จะช่วยให้เราสามารถลดการทำงานหนักของสมองจากการเป็นคนหัวร้อนได้ ฝึกฝนและทำอยู่เป็นประจำให้เป็นนิสัย นอกจากนี้การปล่อยวางและฝึกให้ชีวิตมีความยืดหยุ่นไม่เคร่งเครียดกับเรื่องต่างๆ ก็จะยิ่งช่วยให้คุณใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้นในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม

 

ที่มา : วารสารราชพฤกษ์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 (กันยายน - ธันวาคม 2558) เรื่อง สมองกับอารมณ์: มหัศจรรย์ความเชื่อมโยง (Brain & Emotions: A Miracle Connection) โดย จุฑามาศ แหนจอน