เพิ่งจะ 3 ขวบ…ลูกเขียนชื่อตัวเองได้แล้ว พ่อแม่สุดดีใจ แต่มันดีจริง ๆ หรอ?
ปัจจุบันมีการแข่งขันทางสังคมที่สูงลิ่ว ทำให้เด็ก ๆ ที่เกิดมาในยุคนี้ต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่เด็ก บางครอบครัว พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการแบบก้าวกระโดด เช่น การเขียนชื่อ การท่อง ABC ก-ฮ นับเลข 1-10 ตั้งแต่ก่อนเตรียมอนุบาล เมื่อเด็กทำได้ พ่อแม่ก็รู้สึกภูมิใจ “ลูกฉันเก่งจัง เขียนชื่อได้ตั้งแต่เด็กเลย”
แต่หากลองสังเกตลูก ๆในวัย 3 ขวบ เราจะเห็นว่าเด็กจับดินสอในลักษณะที่เก้ ๆ กัง ๆ นั้นเป็นเพราะ
- ข้อมือที่กล้ามเนื้อและข้อต่อยังไม่แข็งแรงมากพอที่จะบังคับทิศทางได้
- กระดูกฝ่ามือยังไม่แผ่ขยายเท่าไรหนัก ทำให้ไม่มีแรงที่ส่งไปยังกระดูกมือช่วงปลายนิ้ว
- ในวัยนี้ กระดูก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อยังไม่เชื่อมต่อกัน การเขียนหนังสือต้องใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางประคองดินสอ ส่วนนิ้วนางและนิ้วก้อยจะงอยืดหยุ่นจัดระเบียบมือ จึงจะทำให้เขียนถนัด เด็ก ๆ ที่โครงสร้างยังไม่เชื่อมต่อ จึงมีการจัดระเบียบนิ้วที่ค่อนข้างยากลำบาก
การบังคับให้เด็กเขียนจะมีผลกระทบในระยะยาวมากกว่าที่พ่อแม่คิด เหมือนเป็นการสร้างกรอบปิดกั้นจินตนาการลูกตั้งแต่กระบวนการเรียนรู้แรก ๆ ของเขา เพราะเด็กต้องเขียนตามที่กำหนด ซึ่งดูเป็นการฝืนธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กในวัย 3 ขวบ เมื่อเด็กเรียนรู้ว่าเวลาจับดินสอ เขาจะต้องเขียนให้เป็นตัวหนังสือ เขาก็จะไม่ได้คิดถึงการเขียนที่เป็นอิสระ และค่อย ๆ ติดอยู่ในกรอบการเรียนรู้แบบนี้มากขึ้น ๆ
บางคนอาจจะทำได้ตามความคาดหวังที่เกินไปของผู้ใหญ่ แต่การเร่งรัดจะทำให้เด็กเครียด นอกจากเด็กแล้วพ่อแม่ก็เครียด กระทบเป็นวงจรกันไปทั้งบ้าน
พ่อแม่ต้องรู้และเข้าใจถึงพัฒนาการของลูก ว่ากิจกรรมที่ทำนั้นเหมาะสมหรือไม่ และพ่อแม่เองต้องไม่ควรรีบเร่งเพื่อให้ลูกอ่านออก เขียนได้ เพราะวัยนี้เหมาะสมกับการทำกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและจินตนาการมากกว่านั่นเอง