มีรุ่นน้องที่ทำงาน ชอบบ่นให้ฟังว่าตัวเองเข้าข่ายเป็นคนขี้หลงขี้ลืม ลืมกระเป๋าตังค์บ้างล่ะ หลงทางบ้างล่ะ หนักสุดคือลืมล็อกประตูบ้าน ผู้เขียนเองก็ไม่อยากจะว่าอะไร ก็ได้แต่รับฟังแล้วปลอบใจให้คราวหน้ารอบคอบมากขึ้น กลัวจะเข้าทำนองว่าแต่เขา อีเหนาเป็นเอง เพราะสังเกตพฤติกรรมตัวเองเหมือนกัน พักหลังๆก็เริ่มจะหลงๆลืมๆแล้ว เคยเห็นที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ลืมเด็กไว้ในรถ นานจนเสียชีวิต จนมีเสียงวิจารณ์กันไปว่าลูกทั้งคนหลงลืมได้ไง
หลายคนถูกล้อว่ายังไม่แก่เลยหลงๆลืมๆแล้วเหรอ กลายเป็นจิตตกไปเลยก็มี เพราะกับบางอาชีพมันเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ก้าวหน้าได้ แต่จะบอกว่าอาการเหล่านี้ มันเกิดขึ้นได้กับทุกวัยนะ แล้วถ้ามันไม่ใช่แค่ขี้หลงขี้ลืมธรรมดาๆละ มันสามารถลามไปถึงการเสื่อมของสมองที่เรียกว่า ภาวะสมองเสื่อม(Dementia) ซึ่งเป็นภาวะที่สมองมีการทำงานแย่ลงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยกลุ่มอาการหลายๆ อย่างรวมกัน เช่น หลงลืมง่าย คิดเงินไม่ถูก หาของไม่เจอ หลงทางในที่คุ้นเคย มีพฤติกรรมแปลกๆ เป็นต้น โดยสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมมีมากมาย ทั้งที่เป็นโรคของสมองและไม่ใช่โรคของสมอง เช่น เส้นเลือดสมองตีบ เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง ไทรอยด์ การขาดวิตามินบี 12 ยาบางชนิด ภาวะซึมเศร้า และที่สำคัญ คือ อัลไซเมอร์ ซึ่งพบว่าเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้บ่อยที่สุด เป็นต้น*
ถึงจะมีอาการทางสมองแบบนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องมีปมด้อย กลับตรงกันข้าม คุณเป็นคนที่รู้จักลำดับความสำคัญ บริหารจัดการพื้นที่ในสมองได้ดี เพราะในงานวิจัยของ Paul Frankland และ Blake Richards สองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา กล่าวสรุปไว้ในงานวิจัยที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องกลไกการทำงานของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ สรุปไว้ว่า “...อาการขี้หลงขี้ลืมไม่ได้เกิดจากประสิทธิภาพในการเรียกคืนข้อมูลล้มเหลว หากแต่นี่เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้สมองสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพราะตัดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆที่ไม่จำเป็นออกไป และให้ความสำคัญกับเรื่องที่จำเป็นกับชีวิตมากขึ้น...เพราะถ้าคุณพยายามจะจำทุกสิ่งอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต สมองของคุณก็จะอัดแน่นไปด้วยความจำเหล่านั้นมากเกินไป ทำให้สมองเบลอ เชื่องช้า ส่งผลให้การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทำได้ยาก พูดง่ายๆ ก็คือ คุณจะลังเลไม่กล้าตัดสินใจในทุกๆ เรื่องนั่นเอง และสมองของคนเราเป็นตัวกรองข้อมูลชั้นดี นั่นหมายความว่า อะไรที่ไม่สำคัญก็ควรจะลืมๆ มันไปซะ เหมือนเป็นการเคลียร์สมองเพื่อเก็บพื้นที่เอาไว้จดจำในเรื่องที่สำคัญๆ หรือเรื่องที่ตัวเองสนใจก็เพียงพอแล้ว”** ในงานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุด้วยว่า สมองถูกแบ่งเป็นสองส่วนที่ทำงานสวนทางกัน คือมีกลไกบางอย่างมากระตุ้นให้เกิดอาการหลงลืม และก็จะมีกลไกสมองอีกชนิดหนึ่งที่จะเข้ามาเติมเต็มสมองที่เกี่ยวกับการจดจำข้อมูลที่มากขึ้นไปอีก กลไกลตรงนี้แหละที่ทำให้คุณบริหารจัดการพื้นที่ในสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการหลงลืม เหมือนจะเป็นเรื่องที่ปล่อยผ่านได้ แต่สำหรับการทำงานมันสำคัญมาก หากอยากประสบความสำเร็จ กลไกสมองเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นตัวถ่วงความเจริญได้แบบไม่รู้ตัว ทางออกที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง เพิ่มหน่วยความจำ ทำได้ง่ายๆ
1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด
2. ฝึกบริหารสมอง ทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมองอย่างสม่ำเสมอ เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป คิดเลข เล่นเกมปัญหา ฝึกเขียนหนังสือ
3. หลีกเลี่ยงความเครียดจากการทำงาน หาเวลาไปพักผ่อนสูดอากาศ
4. การฝึกสมาธิ ทำให้มีความจดจ่อกับสิ่งที่ทำและจำได้มากขึ้น
5. ทานวิตามินเสริมที่มีส่วนช่วยเรื่องบำรุงสมอง เช่น วิตามิน B B12 สารสกัดจากใบแปะก๊วย ไขมันโอเมก้า3 เป็นต้น
6.กิจกรรมฝืนความถนัด ทำอะไรที่ขัดกับที่ทำๆอยู่เช่น แปรงฟันด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด ท่องสูตรคูณถอยหลัง ตักข้าวด้วยมือข้างที่ไม่ถนัด เปลี่ยนเส้นทางกลับบ้าน
สมองหากไม่ได้รับการกระตุ้นด้วยกลไกภายนอก ก็เหมือนกันเครื่องยนต์ที่สตาร์ทติดได้ยาก หรือขับไปด้วยอาการติดๆขัดๆ หากได้รับการฝึกคิดฝึกจดจำอยู่เป็นประจำ แต่ต้องไม่มากไปหรือน้อยไปเพราะความจำมนุษย์มีพื้นที่จำกัด หมั่นบริหารสมองขยายพื้นที่ เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานในการประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นก็จะช่วยแก้ไขพฤติกรรมหลงลืมนี้ได้.....
อ้างอิง
https://www.bumrungrad.com/healthspot/september-2012/dementia-alzheimer-symptoms
https://www.tnews.co.th/contents/412347