เมื่อออกจากโรงหนังยอดมนุษย์อย่าง The Avengers แล้ว ผมเฝ้าถามตัวเองว่าในโลกอนาคตเราจะสามารถทำให้ร่างกายของมนุษย์ทำงานร่วมกับเครื่องจักรกลอย่างมีประสิทธิภาพได้แค่ไหน เพราะชิ้นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของมนุษย์ที่ทำหน้าที่ควบคุม สั่งการ เพื่อให้เราสามารถทำกิจวัตรต่างๆ ในชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข อย่างสมองนั้นมีความสลับซับซ้อนเหลือเกิน ในขณะที่ปีที่เรายังมีชีวิตอยู่กันบนโลกใบนี้เทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้แก่มวลมนุษย์ แนวคิดที่จะพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มีการพูดถึงกันมากขึ้นและได้รับความสนใจสูงมากจากผู้คนทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในวงการอุตสาหกรรมเท่านั้น เมื่อไม่นานมานี้ในปี 2018 ประเทศจีนได้นำเสนอผู้ประกาศข่าวที่เป็น AI ตัวแรกของโลก สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการสื่อสารมวลชนมากอยู่ทีเดียว หลายคนอาจเข้าใจว่าเหล่าปัญญาประดิษฐ์นั้นคล้ายกับเครื่องยนต์กลไกที่เราป้อนโปรแกรมบางอย่างเข้าไปเพื่อให้สามารถทำงานได้ แต่แท้ที่จริงแล้วในวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์นั้น การสร้างเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถเชื่อมกับการทำงานที่ซับซ้อนของมนุษย์โดยเฉพาะกับสมองนั้น มีมาหลายสิบปีแล้ว การพัฒนาเหล่านั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากและน่าจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของเราในอนาคตอย่างแน่นอน
ในปี 2004 ทีมวิจัยที่นำทีมโดย ดร.จอห์น โดโรฮิว (John Donoghue) แห่งมหาวิทยาลัยบาว์น (Brown University) ได้ทำการผ่าตัดสมองของอาสาสมัครชื่อแมตต์ ซึ่งเคยได้รับอุบัติเหตุจนกระดูกไขสันหลังขาด ทำให้เป็นอัมพาตทั้งตัว โดยมีขั้นตอนคือการเปิดกระโหลกสมองและทำการติดตั้งไมโครชิพลงไป เจ้าไมโครชิพอันจิ๋วนี้ทำหน้าที่คอยรับสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์ประสาทรอบๆ แล้วส่งสัญญาณออกมาตามแผงไฟเส้นเล็กๆ ต่อออกมาเชื่อมกับระบบคอมพิวเตอร์ด้านนอก จากนั้นแมตต์ก็จะทำหน้าที่ในการควบคุมเมาท์ของคอมพิวเตอร์ด้วยการใช้ความนึกคิดว่าให้ลูกศรของเม้าท์เลื่อนไปด้านซ้ายหรือขวา แม้ว่าในช่วงแรกจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อผ่านการฝึกฝนไปได้ไม่นาน แมตต์สามารถบังคบเม้าท์ได้อย่างคล่องแคล่วจนสามารถเช็คอีเมล์ เปลี่ยนช่องทีวี เล่นเกม โดยใช้เพียงแค่การคิดของเขาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สำหรับคนที่เป็นอัมพาตจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมกับสมองนี้ถูกเรียกชื่อว่าระบบประตูสมอง (BrainGate) ความคิดของมนุษย์ได้ได้จบลงเพียงแค่นั้น ดร.โดโนฮิว มีความหวังว่าจะพัฒนาการทดลองนี้ไปเรื่อยๆ ในอนาคตชิพในสมองของแมตต์จะถูกเชื่อมต่อกับรถเข็นไฟฟ้า ทำให้เขาสามารถบังคับให้มันเคลื่อนไปยังที่ต่างๆ และอาจรวมถึงการเชื่อมต่อไปยังไขสันหลังเพื่อสั่งการให้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายกลับมาทำงานได้อีกครั้ง
ในโลกอนาคตมนุษย์อาจต้องทำงานหรือใช้ชีวิตแบบเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีแบบต่อตรงกับสมองเหมือนแมตต์ หรือความรู้สึกนึกคิดของเราอาจทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมได้มากขึ้น ความเสียหายต่อร่างกายอาจไม่มีผลหากสมองเรายังคงปลอดภัยหรือต่อไปอาจไม่จำเป็นต้องมีร่างอีกต่อไป เพียงแค่เรามีสมองก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ เรื่องราวเหล่านี้น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าสมองเป็นสิ่งที่แสนมหัศจรรย์สำหรับมนุษย์ สมองสามารถสร้างสิ่งที่เลวร้ายหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกใบนี้ คงอยู่ที่เจ้าของสมองแต่ละคนว่าจะเลือกเดินในเส้นทางใด
ที่มาข้อมูล:
หนังสือ Rebuilt: How Becoming Part Computer Made Me More Human โดย Dr. Chorost ปี 2005
บทความเรื่อง My Bionic Quest for Bolero จากนิตยสาร Wired ปี 2005